6 วิธีป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน อ่อน – แข็ง สำหรับคนทำธุรกิจ
21 Jun 2024 | 359
- Deepscope Site Admin
ค่าเงิน คือตัวกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในแต่ละประเทศ ซึ่งมูลค่าของค่าเงินในแต่ละประเทศนั้น ก็ขึ้นกับขนาดเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจด้านการเงิน-การคลัง และเงินสำรองที่เก็บไว้
เมื่อปัจจัยดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงไป ก็จะทำให้ค่าเงินในประเทศนั้นๆ เปลี่ยนแปลงตามไปเช่นกัน ซึ่งผู้ที่ทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ย่อมได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางด้านค่าเงินอย่างแน่นอน
1. รู้จัก ค่าเงินอ่อน-แข็ง
ค่าเงินมีทิศทางการเปลี่ยนแปลงได้ 2 รูปแบบ หนึ่งคือ ‘แข็งตัว’ หมายถึง ค่าเงินหนึ่งมีอำนาจในการแลกเปลี่ยนเป็นอีกค่าเงินของอีกประเทศหนึ่งได้มากขึ้น สองคือ ‘อ่อนตัว’ หมายถึง ค่าเงินหนึ่งมีอำนาจในการแลกเปลี่ยนเป็นค่าเงินของอีกประเทศหนึ่งได้น้อยลง
ยกตัวอย่างเช่นในช่วงเวลาหนึ่ง 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 33 บาท หาก 1 ดอลลาร์มีการเปลี่ยนแปลงเป็น 30 บาท นั่นหมายความว่าค่าเงินบาทมีการแข็งตัวขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ค่าเงินดอลลาร์มีการอ่อนตัวลง
ในทางกลับกัน หาก 1 ดอลลาร์มีการเปลี่ยนแปลงเป็น 35 บาท นั่นหมายความว่าค่าเงินบาทมีการอ่อนตัวลง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ค่าเงินดอลลาร์มีการแข็งตัวขึ้นนั่นเอง
2. บาทแข็งกระทบธุรกิจอย่างไร
สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจส่งออก หากส่งออกเป็นค่าเงินบาทแล้วเงินบาทแข็งตัว หมายความว่า ประเทศคู่ค้าผู้นำเข้ากับเราจะต้องซื้อของโดยใช้จำนวนเงินที่มากขึ้นเพื่อให้ได้ปริมาณเท่าเดิม ทำให้แรงจูงใจในการซื้อของช่วงค่าเงินบาทแข็งค่าลดลง ซึ่งนำไปสู่การลดลงของยอดส่งออกไทย ทำให้ผู้ส่งออกเสียผลประโยชน์ในภาวะค่าเงินบาทแข็งตัว
3. บาทอ่อนกระทบธุรกิจอย่างไร
สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจส่งออกของไทยเป็นค่าเงินบาท หากค่าเงินบาทอ่อนตัว ประเทศคู่ค้าผู้นำเข้ากับไทยก็จะสามารถซื้อของในปริมาณที่มากขึ้นด้วยจำนวนเงินเท่าเดิม ทำให้แรงจูงใจซื้อสินค้าของประเทศคู่ค้าในช่วงค่าเงินบาทอ่อนตัวเพิ่มขึ้น นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของยอดส่งออกไทย ทำให้ผู้ส่งออกได้ประโยชน์ในภาวะเงินบาทอ่อนค่า
6 วิธีป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน
1. Local Currency หรือการใช้เงินสกุลท้องถิ่น เป็นการจ่ายค่าสินค้าหรือบริการเป็นเงินบาทหรือเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่ค้า ช่วยลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเงินบาทและเงินภูมิภาคมักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน
2. Natural Hedge หรือการบริหารรายได้และรายจ่ายให้เป็นสกุลเงินเดียวกัน เวลาอัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนแปลง รายได้และรายจ่ายจะได้เปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกัน ข้อดีคือไม่มีค่าใช้จ่ายเหมือนวิธีอื่นๆ
3. Foreign Currency Deposits (FCD) หรือการเปิดบัญชีเงินต่างประเทศ ช่วยลดความเสี่ยงความผันผวนของค่าเงิน เพราะสามารถทยอยซื้อค่าเงินต่างประเทศเก็บไว้ในบัญชีเพื่อใช้ในอนาคตได้
4. Forward หรือสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เป็นการทำสัญญาซื้อขายค่าเงินกับธนาคาร โดยธนาคารจะส่งมอบเงินให้เราตามกำหนด ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า
5. Options หรือสิทธิซื้อขายค่าเงินในอนาคต คล้ายกับ Forward กล่าวคือ เราตกลงอัตราแลกเปลี่ยน จำนวนเงิน และระยะเวลาไว้ล่วงหน้า แต่การซื้อสิทธิเปรียบเสมือนการซื้อประกันว่าจะเคลมหรือไม่ก็ได้
6. Futures หรือการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าผ่านตลาดซื้อขายล่วงหน้า คล้านกับ Forward เพียงแต่ซื้อขายบนตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Thailand Futures Exchange: TFEX) ของตลาดหลักทรัพย์แห้งประเทศไทย (ตลท.)
ขอขอบคุณข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
.
.
.
การผันผวนของค่าเงินเกิดขึ้นอยู่ตลอด เราต้องคอยรับมือกับทุกสถานการณ์
เพื่อจะได้วางแผนการเก็บเงินอย่างยั่งยื่น
วางแผนค่าเงินแล้ว อย่าลืมวางแผนการลงทุน และการเกษียณ ใช้เครื่องมือช่วยวางแผนเหล่านี้ได้ฟรี ที่นี้เลย
https://bit.ly/3OOqYtG